บทความ
การทำวิจัยในชั้นเรียน

หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  คือ  การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  และผู้ที่มีบทบาททำให้การปฏิรูปดังกล่าวประสบความสำเร็จคือ  “ครู”  และจากสาระสำคัญในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติในหมวด  6  ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา  กำหนดให้สถานศึกษาต้องมีการประเมินผลภายในทุกปี  และพร้อมรับการประเมินจากภายนอกทุก  5  ปี  ซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา  โดยเฉพาะผู้บริหารและครูผู้สอนต้องกลับมาทบทวนการทำงาน  รวมทั้งเร่งพัฒนาปรับปรุงตนเองในการจัดการศึกษา 

                นอกจากนี้ในหมวด 4  ได้กำหนดแนวการจัดการศึกษาให้สถานศึกษามีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ครูทำการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  นั่นหมายถึงการปฏิรูปการศึกษาไม่ว่าในระดับใดก็ตามได้เน้นให้ครูและสถานศึกษาใช้กระบวนการวิจัยเป็นแนวทางในการพัฒนาการปฏิบัติงานทั้งตัวครูผู้สอนและหน่วยงาน  การทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนจึงเป็นแนวกระบวนการที่ใช้เพื่อประเมินการทำงาน  และเป็นกระบวนการในการค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน  เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ

                ในอดีตครูทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ให้ความรู้แก่นักเรียน  บทบาทที่ผ่านมาจึงไม่ได้เน้นการทำงานวิจัย  ดังนั้นครูส่วนใหญ่จึงมีความถนัดในด้านศาสตร์การสอนมากกว่าศาตร์ทางการวิจัย  แม้แต่การผลิตครูที่ผ่านมาได้แยกส่วนของการวิจัยดดยเน้นในเชิงวิชาการ  แต่ไม่ได้เน้นในกระบวนการทางการปฏิบัติการการวิจัย  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น  ในต่างประเทศพบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน  อีกประการการทำวิจัยของครูในปัจจุบันทำเพียงเพื่อการทำตำแหน่งทางวิชาการ  หรือการเลื่อนตำแหน่ง  ดังนั้นการทำวิจัยจึงเกิดเป็นเฉพาะกิจหรือครั้งคราวแล้วก็ยุติไป  ที่ผ่านมาจึงใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยจัดหลักสูตรอบรม  หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการ  ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้เป็นการเน้นการวิจัยเชิงวิชาการ  (Academic  Research)  โดยผู้เป็นวิทยากรมักเป็นกลุ่มอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา  หรือนักวิชาการ  ดังนั้นสิ่งที่ครูได้รับโดยส่วนใหญ่จึงเป็นความรู้ที่เป็นกระบวนการวิจัยแบบเป็นทางการ  (formal  research)  การวิจัยลักษณะนี้เป็นการวิจัยที่มีหลักการวิจัยอย่างเคร่งครัด  ทำให้ครูที่ใช้แนวทางนี้ได้การทำวิจัยจึงมีปัญหาหลายประการ  ดังต่อไปนี้

                1) ความรู้ของครูที่ได้รับจากการอบรมไม่เพียงพอที่จะทำการวิจัยโดยลำพังได้  ทำให้ไม่สำเร็จ  เกิดความท้อถอยในการทำวิจัย

                2) การทำวิจัยแบบเป็นทางการ  ต้องใช้การศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก  (review  of  literature)  เพื่อกำหนดกรอบความคิดในการวิจัย  และการออกแบบการวิจัยที่เหมาะสม  แต่จากข้อจำกัดด้านเวลาของครู  ทำให้ไม่สามารถทุ่มเทในการศึกษาเอกสารได้อย่างเต็มที่  เกิดการจ้างวานหรือให้บุคคลอื่นทำแทน

                3) งานวิจัยของครูโดยส่วนใหญ่เป็นการเฉพาะกิจ  ไม่ได้มีการทำวิจัยแบบต่อเนื่อง  เนื่องจากการทำวิจัยมักเป็นการทำเพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือการสร้างผลงานทางวิชาการ  จึงไม่ได้ก่อให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนตามที่ควรจะเป็น

                4) ปัญหาในการทำวิจัยมักเกิดจากการเลียนแบบปัญหาจากนักวิชาการ  ไม่ได้เกิดจากปัญหาในห้องเรียนหรือปัญหาที่ครูประสบด้วยตนเอง  ทำให้ผลที่ได้จากงานวิจัยไม่สามารถใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานจริงๆ

                5) งานวิจัยใช้เวลานาน  ไม่สามารถนำไปใช้ได้ทันเหตุการณ์  หรือปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดมานานแล้ว  นักเรียนอาจไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนแล้ว

                6) การทำวิจัยเป็นกระบวนการที่ต้องฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่อง  การอบรมส่วนใหญ่เป็นแบบเร่งรัด  เมื่อนำมาใช้จริงในหน่วยงานไม่มีผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำแนะนำเป็นพี่เลี้ยงในการทำวิจัย  ทำให้การทำวิจัยในชั้นเรียนมีจุดบกพร่องในเกือยทุกขั้นตอนของการทำวิจัย

                จากสภาพปัญหาที่กล่าวมาแล้วนั้น  ทำให้การวิจัยของครูไม่ได้พัฒนามากเท่าที่ควรส่งผลการการเป็นครูมืออาชีพ  ที่สอดคล้องกับการเป็นวิชาชีพ  จากบทบาทและหน้าที่ของครูนอกจากการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนแล้ว  ครูยังต้องพัฒนาการเรียนการสอน  คิดค้นและหาแนวทางใหม่  หรือนวัตกรรมใหม่ๆ  ที่จะทำให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มความสามารถ  โดยอาศัยกระบวนการสืบค้นทางการวิจัยและนำผลดังกล่าวมาประยุกต์ใช้  และมีการพัฒนาปรับปรุงแก้ไขต่อไป เป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยๆ  ดังนั้น  การทำวิจัยเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงาน  ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการสอน  หรืองานที่ได้รับมอบหมายจึงมีความจำเป็นสำหรับการประกอบวิชาชีพครู

 

แนวทางใหม่สำหรับการวิจัยของครู

                เพื่อแก้ไขปัญหาความกลัว  ความกังวล  และความท้อแท้ของครูในการทำวิจัยเพื่อพัฒนางานของตนเอง  ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ครูได้ใช้กระบวนการวิจัยให้เป็นส่วนหนึงของการทำงาน  อาจไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานการวิจัยเชิงวิชาการ  แต่เพื่อจุดมุ่งหมายในการทำวิจัยเพื่อพัฒนางานที่ได้รับมอบหมาย  ดังนั้นแนวทางใหม่สำหรับครูในการทำวิจัยจึงควรมีลักษณะดังนี้

                1) ควรเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก  มุ่งแสวงหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานไม่ใช้เวลานานเกินไปจนกระทบต่องานอื่นๆ

                2) ในแต่ละภาคเรียน  สามารถทำการศึกษาในประเด็นวิจัยที่สนใจได้หลายประเด็น  และสามารถดำเนินการพร้อมกันไก้

                3) การวิจัยต้องเน้นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบ  เพื่อให้ได้ข้อค้นพบหรือคำตอบที่หนักแน่น  น่าเชื่อถือ  และนำไปใช้ในการพัฒนางานของตนได้จริง

                4) การทำวิจัยควรเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากการปฏิบัติงาน  ไม่ใช่  จากจุดเริ่มต้นว่า  ควรทำวิจัยเรื่องอะไร  ดังนั้น  คำถามที่เกิดขึ้นควรมาจากปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติงาน

                5) กระบวนการวิจัยของครูสามารถใช้กระบวนการ  วิธีการง่ายๆ  ในการค้นหาคำตอบ  ไม่ใช่ว่าการทำวิจัยต้องรอการอนุมัติ  แต่หน้าที่ของครูคือการหาวิธีในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือลดลงด้วยกระบวนการ  วิธีการที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากรและเงื่อนไขที่มีอยู่

                6) การทำวิจัยไม่ได้มุ่งหวังเพื่อสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อตนเอง  แต่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น  แก้ปัญหาองค์รวมของหน่วยงาน

 

วงจรการวิจัย

                ขั้นตอนการวิจัยในชั้นเรียนมีลักษณะที่คล้ายกับหลักการวิจัยโดยทั่วๆ ไป  คือ  มีการกำหนดปัญหา  การเก็บรวบรวมข้อมูล  การวิเคราะห์ข้อมูล  การเสนอผลการวิจัย  ส่วนที่ต่างกันคือ  การสะท้อนผลเพื่อให้เกิดการวิพากษ์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้องร่วมกัน  ขั้นตอนการวิจัยในชั้นเรียน  หรือ  วิจัยปฏิบัติการ  มักใช้กระบวนการดังนี้  การวางแผน  (Plan)  การปฏิบัติ  (Act)  การสังเกต (Observe)   และการสะท้อนผล  (Reflect)  หรือ  PAOR  ซึ่งหากพิจารณาดูจะเห็นได้ว่า  วงจร  PAOR  มีความคล้ายคลึงกับวงจรการประเมินผลภายใน  หรือ  วงจรเด็มมิ่ง  (PDCA) 

                วงจรการวิจัย  หรือ  PAOR  จะสอดแทรกอยู่ระหว่างระหว่างขั้นการประเมิน  (Check)  และขั้นการปรับปรุง  (Act)  ในวงจรคุณภาพภายในหรือเด็มมิ่ง  นั่นหมายถึงการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้น  เมื่อต้องการตรวจสอบการปฏิบัติงานโดยเริ่มต้นจากการวางแผน  การลงมือปฏิบัติแล้วเกิดปัญหาขึ้น  และยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดงกล่าวนั้น  เราสามารถใช้กระบวนการวิจัยในการค้นหาคำตอบเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

                โดยสรุป  การประเมินผลภายในและการวิจัยในชั้นเรียนเป็นกระบวนการที่มีเป้าหมายคล้ายคลึงกัน  คือ  เป็นกระบวนการที่ต้องการพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย  และดีขึ้นกว่าเดิม  ส่วนจุดที่ต่างกันคือ  การวิจัยในชั้นเรียนเป็นการสืบค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม  ในขณะที่การประเมินผลภายในเป็นกระบวนการที่ตรวจสอบว่าแนวทางที่ปฏิบัติอยู่นั้นได้ผลเพียงใด  และต้องปรับปรุงอย่างไร  แต่ทั้งสองอย่างใช้กระบวนการที่เป็นระบบในการหาคำตอบ

 

ขอบเขตของการวิจัยในชั้นเรียน

                มี  2  ขอบเขต  คือ  ขอบเขตด้านเนื้อหาที่จะทำวิจัย  และขอบเขตด้านการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

                1) ขอบเขตด้านเนื้อหาที่จะทำวิจัย  ครอบคลุมเรื่อง

                                1.1) หลักสูตร  เช่น  การติดตามและประเมินหลักสูตร  ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อหลักสูตร  เป็นต้น

                                1.2) การเรียนการสอน  เช่น  บรรยากาศห้องเรียน  พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน  ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน  แนวทางและวิธีการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน  การเปรียบเทียบวิธีการสอน  เจคติและความพึงพอใจของนักเรียนต่อครูและวิชาที่เรียน  เป็นต้น

                                1.3) สื่อที่ใช้สอน  เช่น  การพัฒนาสื่อการเรียนการสอน  การเปรียบเทียบประสิทธิภาพ  ความพึงพอใจ  เป็นต้น

                                1.4) วิธีวัดและประเมินผลการเรียน เช่น  การสร้างแบบวัด  ความพึงพอใจของนักเรียนต่อวิธีประเมินผลของครู  เป็นต้น

                2) ขอบเขตด้านการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์  เพื่อหาคำตอบที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน  ครูผู้สอน  กระบวนการเรียนการสอน  และสภาพแวดล้อมในห้องเรียน  สิ่งที่ได้จากการวิจัยไม่ควรใช้อ้างอิงกับห้องเรียนอื่นๆ 

 

ขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน

                ขั้นตอนที่สำคัญในการทำวิจัยในชั้นเรียนเมื่อเรียงตามลำดับ  ควรเป็นดังนี้

                1) ขั้นตอนการกำหนดปัญหาของการวิจัย  ให้ทบทวนและพิจารณาว่าในปัจจุบันมีปัญหาอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน  ตัวครูผู้สอน  กระบวนการเรียนการสอน  สภาพแวดล้อมในห้องเรียน  เช่น  ปัญหาด้านพฤติกรรมนักเรียน  ปัญหาความพึงพอใจของผู้ปกครองในการให้บริการ  ปัญหาด้านการสื่อในการพัฒนานักเรียน  ปัญหาเรื่องความเหมาะสมของรูปแบบการให้บริการ  เป็นต้น  ในกรณีที่พบหลายปัญหา  ให้ลำดับความสำคัญของปัญหาตามความรุนแรง

                ในการจัดการศึกษาพิเศษ  การวิเคราะห์ปัญหาสามารถใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อนำไปวิเคราะห์นักเรียน  รูปแบบการวิเคราะห์ปัญหาของเด็กอาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้เพื่อรวบรวมปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา  คือ  การซักประวัติ  การสังเกตพฤติกรรม  การคัดแยก  การวินิจฉัย 

                การตั้งคำถามการวิจัย  เป็นการกำหนดประเด็นข้อสงสัยที่ต้องการค้นหาคำตอบ  การเขียนคำถามวิจัยมักอยู่ในรูปคำถามที่มีความเฉพาะเจาะจง  สามารถสังเกต  สำรวจและศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบได้  คำถามวิจัยต่างจากปัญหาการวิจัย คือ  ปัญหาวิจัยแสดงถึงสภาพที่เป็นปัญหา  เป็นสิ่งที่ต้องการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งการค้นหาวิธีแก้ปัญหา อาจตั้งหลายคำถามการวิจัยได้ และทุกคำถามนำไปสู่การแก้ปัญหาวิจัยอีกต่อหนึ่ง

                หลักในการตั้งคำถามการวิจัย  ควรมีลักษณะดังนี้

                (1) ควรใช้คำว่า “ทำไม อย่างไร  เพราะเหตุใด” และเป็นคำถามที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผล  ไม่ควรใช้คำถามว่า “ใช่ หรือ  ไม่ใช่”

                (2) เป็นคำถามที่นำไปสู่การแก้ปัญหานักเรียน 

                (3) เป็นคำถามที่ครูสามารถจัดการได้  ไม่ควรตั้งคำถามที่ครูหรือผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถทำอะไรได้แม้ว่าจะทราบคำตอบ

                (4) ควรเป็นคำถามที่สามารถทำวิจัยหาคำตอบได้  เหมาะสมกับเวลา  ทรัพยากร

                (5) คำถามควรอยู่ในขอบเขตของจริยธรรม  และเคารพสิทธิมนุษยชน  ไม่กระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด

 

                2) ขั้นตอนการเขียนโครงการวิจัยในชั้นเรียน  ควรประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้

                                2.1) ชื่อเรื่องการวิจัย  ควรเป็นประโยคบอกเล่า  เช่น  การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  เรื่องสีโดยไม่ใช้  และใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนของ... ผลการจัดกิจกรรมอาชาบำบัดในการลดพฤติกรรมการเกร็งใน...  การพัฒนาการอ่านพยัญชนะไทยด้วยชุดฝึกการอ่านพยัญชนะสำหรับนักเรียน...  เป็นต้น

                                ชื่อเรื่องการวิจัยควรตอบคำถามได้ว่า  ทำวิจัยเรื่องอะไร  ทำที่ไหน  ทำเมื่อไร 

 

                                2.2) ความเป็นมา / ความสำคัญ / ความจำเป็นที่ต้องทำวิจัยเรื่องนี้  บอกความเป็นมา  ความสำคัญและความจำเป็นในการทำวิจัย  ควรเขียนให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาในเรื่องที่ต้องการทำวิจัย  ผลกระทบและระดับผลกระทบของปัญหาที่มีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  เช่น  ตัวนักเรียน  ครู  ผู้ปกครอง  โรงเรียน  สังคม  การเขียนควรหาข้อมูลที่สนับสนุนความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องทำวิจัยอาจมีข้อมูลทางสถิติ  รายงานการวิจัย  บทความทางวิชาการ  ข่าว  เป็นต้น  แนวทางการเขียนประกอบด้วย  5  ส่วนดังต่อไปนี้  หลักการและเหตุผล  หรือสิ่งที่พึงประสงค์มุ่งหวังจะให้เกิด,  สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน , ความแตกต่างของสภาพที่พึงประสงค์และสภาพที่เป็นอยู่ , ผลที่ตามมาหรือปัญหาที่ตามมาจากการเกิดความแตกต่าง , ประเด็นที่ต้องทำวิจัยเพื่อให้ได้แนวทางในการแก้ปัญหาหรือคำอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น  และประโยชน์ที่คิดว่าจะได้รับหลังจากได้แนวทางแก้ไขปัญหา

โพสเมื่อ : 28 ม.ค. 2557,20:50   อ่าน 8943 ครั้ง