บทความ
กิจกรรมบูรณาการกับการพัฒนาศักยภาพเด็กก่อนวัยเรียน

กิจกรรมบูรณาการกับการพัฒนาศักยภาพเด็กก่อนวัยเรียน

นางสาวปวีณา พิเชฐสินธุ์

                เด็กก่อนวัยเรียน  หมายถึง  ระยะวัยเด็กตอนต้น  (Early  Childhood) หรือวัยเด็กก่อนเข้าเรียน เริ่มตั้งแต่อายุประมาณ  2  ขวบครึ่งจนถึงประมาณ  6  ขวบ  ลักษณะของเด็กในวัยนี้  อยากเป็นอิสระ  อยากเป็นตัวของตัวเอง  ชอบปฏิเสธ  มักปฏิบัติตนตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้ใหญ่พูด  รั้น  และดื้อ  (ศรีเรือน  แก้วกังวาล  2549)  ที่เป็นลักษณะนี้อาจเนื่องมาจากเหตุผล  2  ประการนั่นคือ

1)            เด็กในวัยนี้เพิ่งผ่านวัยทารก  เริ่มมีพัฒนาการในด้านการใช้ภาษา  และความสามรรถทางการเคลื่อนไหวทางกายมากขึ้น  เช่น  การใช้งานกล้ามเนื้อแขน  ขา  เป็นต้น  ดังนั้นเด็กในวัยนี้จึงอยากใช้และแสดงความสามารถของพัฒนาการในด้านต่างๆ นี้

2)            เด็กวัยนี้มีความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ  ในครอบครัวมากขึ้น  การเล่นกับบุคคลอื่น  การเข้าสังคมของเด็กในวัยนี้เพิ่มมาขึ้น  เด็กในวัยนี้มีความต้องการเป็นตัวของตัวเอง  รวมทั้งบางเวลาอยากตามใจผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นเล่นด้วย  และในขณะเดียวกันเด็กในวัยนี้ยังมีอารมณ์ตามใจตัวเอง

เด็กในวัยเรียนจะมีความน่ารักน่าชัง  ช่างพูดช่างคุย  เป็นวัยที่ดื้อ  รั้น เอาแต่ใจตัวเอง  ในเด็กวัยนี้  เป็นระยะที่ต้องได้รับการเรียนรู้กฎเกณฑ์  ระเบียบต่างๆ ของสังคม  เรียนรู้การเข้าร่วมกลุ่ม  ทักษะทางสังคมร่วมกับเพื่อนในวัยเดียวกันและต่างวัย  เรียนรู้พฤติกรรมตามวัยและเพศของตนเอง  จะเห็นได้ว่าในวัยนี้เป็นวัยที่ควรเรียนรู้เรื่องกฎและระเบียบ  และในพัฒนาการทางกายในวัยนี้มีอัตราค่อนข้างช้า  ซึ่งเด็กในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความสำคัญ  เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการในด้านต่างๆ  ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคมและสติปัญญาจากวัยทารก  เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้และก้าวเข้าสู่วัยเรียน  เด็กในวัยนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลและพัฒนาจากครอบครัว  และผู้ใกล้ชิด  ซึ่งบุคคลกลุ่มดังกล่าวจึงควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็ก  พัฒนาการแต่ละด้านคือ  ด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคมและสติปัญญา  รวมทั้งมีการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการในด้านต่างๆ  อย่างเหมาะสมและถูกวิธี  

ธรรมชาติและความสนใจของเด็กในวัยนี้  มีลักษณะเหมือนฟองน้ำซึ่งสามารถดูดซับ  เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ  ที่อยู่รอบตัวได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้นพ่อแม่  ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องจะเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการปลูกฝัง  และพัฒนาการเรียนรู้ในด้านต่างๆ  ของเด็กอย่างมาก  การเลี้ยงดูและปลูกฝังที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

                การพัฒนาความสามารถและศักยภาพของเด็กในช่วงก่อนวัยเรียน  พ่อแม่  ผู้ปกครองและครูควรคำนึงถึงพัฒนาการในด้านต่างๆ  ที่สำคัญ  3  ด้านได้แก่  ด้านร่างกาย  ด้านอารมณ์และสังคม  และด้านสติปัญญา  ในวัยนี้มีพัฒนาการที่เด่นๆ  ซึ่งผู้ปกครองและผู้ที่ใกล้ชิดเด็กควรมีความรู้และเข้าใจ  รวมทั้งสังเกตความสามารถในแต่ละด้าน  พร้อมทั้งให้การกระตุ้นอย่างเหมาะสม 

                พัฒนาการด้านร่างกาย  พัฒนาการทางกายของเด็กในระยะก่อนวัยเรียนจะมีพัฒนาการทางกายของร่างกายส่วนต่างๆ  เพื่อให้ทำงานอย่างเต็มที่  แต่ในส่วนอัตราการเปลี่ยนแปลงของร่างกายส่วนต่างๆ นั้นช้าเมื่อเทียบกับวัยทารก  น้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มาก  ร่างกายส่วนต่างๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง  เช่น  แขนขายาวมากขึ้น  ศีรษะยาวขึ้นและเริ่มเล็กลง  ฟันน้ำนมยังไม่เจริญเต็มที่  กระดูเริ่มแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม  กล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสต่างๆ  ทำงานต่างๆ  ได้ดีขึ้น  เด็กในวัยนี้เริ่มควบคุมอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ดีมากขึ้น  การเล่นกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมด้านอารมณ์  สังคมและสติปัญญาควบคู่กันไปด้วย

                การพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของอวัยวะที่ใช้เคลื่อนไหวของเด็กในวัยนี้  เป็นช่วงสำคัญอย่างยิ่ง  กล้ามเนื้อแขน ขาและข้อต่อต่างๆ ของเด็กเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบสิ้นสุด  รวมทั้งมีการพัฒนาความสามารถในการใช้งานของร่างกายและข้อต่อส่วนต่างๆ  พัฒนาการเหล่านี้มีผลต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหวของเด็ก  ลักษณะการเดิน  การวิ่งของเด็กในวัยนี้จะแตกต่างจากวัยทารก  เริ่มมีความใกล้เคียงกับวัยผู้ใหญ่มากขึ้น  ซึ่งเป็นผลจากกล้ามเนื้อมีความแข็งแรง  และความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อดีขึ้นนั่นเอง  สิ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงได้มากของเด็กในวัยนี้คือ  การเดิน  การวิ่ง  การปีนป่าย  การขว้างปาลูกบอล  การกระโดด  การปั่นจักรยาน  เป็นต้น  แต่ในส่วนของกล้ามเนื้อเล็ก  หรือกล้ามเนื้อของมือนั้น  เด็กในวัยนี้พบว่ายังไม่พัฒนาได้ดีและเต็มที่เหมือนกล้ามเนื้อใหญ่  ที่ใช้ในการเคลื่อนไหว  แม้ว่าจะกล้ามเนื้อเล็กจะพัฒนาได้ไม่ดีเท่า  แต่ความสามารถที่เห็นของเด็กในวัยนี้  ได้แก่  การเริ่มใช้มือจับดินสอลากเส้น  ขีดเขียน  การใช้กรรไกร  การผูกเชือก  การติดกระดุม  การถือและจับของที่มั่นคงมากขึ้น  รวมทั้งการใช้ปลายนิ้วในการหยิบจับวัตถุขนาดเล็กได้ดีมากขึ้นอีกด้วย 

การพัฒนาสมรรถภาพทางกายของเด็กในวัยนี้  เป็นวัยเพื่อการเรียนรู้และเตรียมตัวเข้าสู่ช่วงเวลาที่ต้องทำกิจกรรมมากขึ้น  เรียนรู้การปรับตัวเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมกับบุคคลอื่นๆ  ทั้งในบ้านและในสังคม  ดังนั้นพ่อแม่  ผู้ปกครองจึงควรส่งเสริมพัฒนาการทางกายของเด็กเป็นพื้นฐาน  เพื่อให้เด็กสามารถไปปฏิบัติกิจกรรมอื่นๆ ต่อไปได้  นอกจากนี้พ่อ  แม่และผู้ปกครอง  ควรส่งเสริมการช่วยเหลือตัวเองของเด็กในวัยนี้  เช่น  การรับประทานอาหาร  การถอดเสื้อผ้า  การใส่เสื้อผ้า  เป็นต้น  เพื่อให้การปรับตัวของเด็กในวัยนี้ในสังคมดีขึ้น      

                พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม  ระยะเด็กก่อนวัยเรียน  เป็นช่วงที่มักมีอารมณ์และพฤติกรรมดื้อรั้น  เอาแต่ใจตัวเอง  เจ้าอารมณ์  อยู่ในวัยช่วงปฏิเสธ  (Negativistic  Phase)  เด็กในวัยนี้เริ่มมีลักษณะอารมณ์ประเภทต่างๆ  อย่างผู้ใหญ่  เช่น  อารมณ์โกรธ  อารมณ์อิจฉา  อารมณ์อยากรู้อยากเห็น  อารมณ์เห็นอกเห็นใจ  อารมณ์ก้าวร้าว  อารมณ์อวดดี  อารมณ์สนุกสนาน  เป็นต้น

                อารมณ์โกรธ  เป็นอารมณ์ที่พบมากสำหรับเด็กในวัยนี้  เนื่องจากเด็กอยากเป็นตัวของตัวเอง  จึงแสดงออกในลักษณะอยากเอาชนะ  บางครั้งเด็กแสดงอารมณ์โกรธ  โดยร้องไห้  กระทืบเท้า  กระโดด ทำร้ายตัวเอง  ร้องกรี๊ด  เป็นต้น  อารมณ์อวดดี  เป็นอารมณ์ที่พบมากในเด็กวัยนี้เช่นกัน  อารมณ์นี้เกิดจากเด็กมีความต้องการอยากทำอะไรด้วยตัวเอง แต่มักจะได้รับการบังคับในบางครั้ง  ในเด็กบางคนจึงแสดงออกถึงพฤติกรรมการนิ่งเฉยไม่ตอบโต้  การไม่ปฏิบัติตาม  การปฏิบัติตรงข้าม  หรือแสร้งทำกิจกรรมต่างๆ ให้ช้าลง  เป็นต้น

                เด็กในวัยนี้มักแสดงถึงลักษณะการเป็นเด็กช่างซัก  ช่างถาม  ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของการพัฒนาอารมณ์อยากรู้อยากเห็น  เด็กเริ่มพัฒนาการรู้จักใช้เหตุผล  ช่างตั้งคำถาม  ถ้าผู้ปกครองสนองตอบอารมณ์ชนิดนี้ของเด็กจะช่วยให้การใช้เหตุผลของเด็กพัฒนาเร็วขึ้น  และช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง  สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วย  ผู้ปกครองจึงควรเข้าใจและตอบคำถามของเด็กอย่างเอาใจใส่เหมาะกับวัยและสติปัญญาของเด็ก  ถ้าเด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่พอใจหรือได้รับโทษจากการซักถาม  การซักถามจะค่อยๆ หายไป  เด็กจะมีนิสัยไม่อยากรู้อยากเห็น  จะเกิดนิสัยเชื่อง่าย

                ในส่วนพัฒนาการทางสังคมของเด็กในวัยนี้  จะได้รับการพัฒนาจากช่วงวัยทารก  เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้การเข้าหาบุคคลอื่น  เริ่มจะอยากเล่นและคบหากับเด็กในวัยใกล้เคียงกัน  แต่อาจยังทำได้ไม่นักเพราะยังไม่รู้จักการให้และการรับ  ดังนั้นจะเห็นว่าเด็กในวัยนี้เล่นกับกับเพื่อนได้ไม่นานจะมีเรื่องทะเลาะกัน  แต่ไม่นานจะกลับมาเล่นด้วยกันใหม่  เด็กในวัยนี้มักจะชอบเพื่อนที่ตามใจตนเองมากกว่าเพื่อนที่ช่างฟ้อง  หรือไม่คล้อยตามตนเอง  สิ่งที่พบมากในเด็กวัยนี้คือ  การเล่นหรือสร้างโลกสมมติขึ้น  เป็นการเลียนแบบจากในครอบครัว  จากโทรทัศน์หรือประสบการณ์อื่นๆ  ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเล่นกับเด็กในวัยนี้มีความสัมพันธ์กันมากเพราะช่วยให้เด็กเกิดพัฒนาการต่างๆ  ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อม  ช่วยให้เด็กรู้จักการเข้าสังคมกับบุคคลอื่น  ลักษณะการเล่นและเรื่องราวที่เล่น  เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกถึงสติปัญญา  บุคลิกภาพ  ลักษณะอารมณ์  และความสามารถของเด็ก  พื้นฐานของครอบครัวและเพศ 

                พัฒนาการด้านสติปัญญา  การพัฒนาความสามารถด้านสติปัญญาสำหรับเด็กในวัยนี้  ควรพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กมีคุณลักษณะดังนี้  เป็นคนช่างสังเกต  มีความจำและสมาธิที่ดี  ในด้านกระบวนการคิดควรพัฒนาให้เด็กเป็นคนคิดไว  คิดเป็นระบบ  คิดสร้างสรรค์  และสามารถคิดเชื่อมโยงเหตุและผลต่างๆ  สามารถจินตนาการและสร้างภาพในใจได้  เน้นการแก้ปัญหา  และการทำงานประสานระหว่างมือกับตา

                ในการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กก่อนวัยเรียน  แนวทางหนึ่งที่สามารถใช้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กในวัยนี้  นั่นคือการใช้กิจกรรมบูรณาการ  ซึ่งจุดมุ่งหมายของการพัฒนาเด็กโดยใช้กิจกรรมบูรณาการนั่นคือ  การพัฒนาเด็กเป็นองค์รวม  คือ  การพัฒนาทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคมและสติปัญญาไปพร้อมๆ  กัน  โดยสามารถสอดแทรกกิจกรรมบูรณาการไว้ในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนและท้องถิ่น  ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบนิทานพื้นบ้าน  ดนตรี  ศิลปะ  และการละเล่นพื้นบ้าน 

                1)  การส่งเสริมพัฒนาการโดยการเล่น  การเล่นของเด็กในวัยนี้  ถือเป็นการเรียนรู้และช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ  เช่นพัฒนาการทางกาย  พัฒนาทักษะการประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส  ความสนุกสนาน  พัฒนาการความคิดด้านการเข้าใจตัวเอง  การเข้าใจบุคคลอื่น  และสิ่งแวดล้อม  พัฒนาสติปัญญา  และทักษะทางสังคม  การเรียนรู้เรื่องกฎเกณฑ์ กติกาต่างๆ  การเล่นอาจมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมและสังคม  สำหรับการละเล่นแบบไทยๆ  เป็นกิจกรรมการเล่นที่สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี  รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม  แนวทางการเล่นที่จะทำให้เด็กในวัยนี้ได้พัฒนานั้น  ควรให้อิสระแก่เด็กในการเล่น อย่าปิดกั้นการเล่น  เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง  และสนับสนุนให้เด็กได้เล่นกับเด็กทั้งวัยเดียวกันและต่างวัย  ให้เล่นหลายๆ แบบ  ซึ่งมีส่วนช่วยให้เด็กได้ฝึกทักษะและความคิดขั้นสูงได้เป็นอย่างดี

                2)  การส่งเสริมพัฒนาการโดยใช้กิจกรรมดนตรีและเพลง  ดนตรีช่วยพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกชวา  ขณะฟังดนตรีจะรู้สึกสบายซึ่งกระตุ้นการทำงานของสมองซีกขวา  ในขณะที่การจับจังหวะกและสียงตัวโน๊ตเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมองซีกซ้าย  เมื่อนำกิจกรรมดนตรีมาใช้เพื่อพัฒนาและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก  พบว่าดนตรีมีส่วนช่วยส่งเสริมพัฒนาการหลายด้าน  คือ  ด้านร่างกาย  ดนตรีจะกระตุ้นให้เด็กเกิดการเคลื่อนไหวร่างกาย  ช่วยส่งเสริมการทำงานประสานกัน  และการใช้ประสาทสัมผัสทางกายด้วย  นอกจากนี้ดนตรียังช่วยพัฒนาด้านอารมณ์  ดนตรีส่งเสริมให้เด็กเกิดสุนทรียภาพ  มีความสุข  เพลิดเพลิน  ผ่อนคลายความตึงเครียดใช้ได้ดีทั้งในเด็กปกติ  และเด็กพิเศษ  ใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย  ในส่วนด้านสังคม  ดนตรีมีส่วนส่งเสริมให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน  และบุคคลรอบข้างได้ง่ายขึ้น  และด้านสติปัญญา  พบว่า  เพลงช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ  การจดจำ  รวมทั้งดนตรีมีส่วนกระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์  เกิดจินตนาการดีขึ้น

                การใช้ดนตรีและเพลงเป็นสื่อในการส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กในวัยก่อนวัยเรียนนั้น  ผู้เลือกใช้ควรคำนึงถึงลักษณะพัฒนาการของเด็ก  ความสามารถของเด็ก  นอกจากนี้เพลงที่ใช้ควรเป็นเพลงที่ร้องและจำได้ง่าย  และควรใช้เทคนิคที่เหมาะสม

                3)  การส่งเสริมพัฒนาการโดยใช้กิจกรรมศิลปะ  ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์  สร้างจินตนาการ  ช่วยให้เด็กมีสมาธิ  ช่วงสังเกต  อ่อนโยน  ใจเย็นมากขึ้น  เด็กวัยนี้เป็นวัยเริ่มต้นขีดเขียน  เป็นวัยที่มีพัฒนาการทางร่างกายที่สมบูรณ์  ทั้งสายตา  มือ  และการเคลื่อนไหว  การทำงานประสานกัน  ในช่วงแรกเป็นการขีดเขียนแบบไร้ทิศทาง  ยังควบคุมได้ไม่ดีนัก  แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนและแนะนำบ่อยๆ  จะสามารถควบคุมมือได้ดีขึ้น  ศิลปะของเด็กในวัยนี้จึงเริ่มต้นจากการขีดเขียนเส้นต่างๆ  และเริ่มสร้างรูปทรง  รูปร่างต่างๆ  จากเส้นต่างๆ  เหล่านั้น

                การนำศิลปะมาใช้ควรมีการใช้อย่างเป็นขั้นตอน  เริ่มต้นจากการวาดรูปทรงง่ายๆ  นั่นคือ  รูปวงกลม  จากนั้นจึงเป็นเส้นตรง  และการนำเส้นตรงมาผสมกับวงกลมเป็นรูปร่างง่ายๆ  ให้โอกาสและอิสระกับเด็กในการสร้างสรรค์งานศิลปะ  ซึ่งเด็กจะรู้สึกตื่นเต้น  สนุกสนานและสามารถปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเต็มที่  บูรณาการนำธรรมชาติมาใช้ประกอบการแสดงออกทางศิลปะ    รวมทั้งพัฒนาศิลปะจาก  2  มิติไปสู่งาน  3  มิติ  ศิลปะมีส่วนในการช่วยพัฒนาความสามารถทางด้านร่างกาย  อารมณ์  สังคมและสติปัญญาอย่างครบถ้วน 

                4)  การผ่อนคลาย  การทำกิจกรรมต่างๆ  สำหรับเด็กในวัยนี้  ต้องอาศัยกล้ามเนื้อ  ข้อต่อและส่วนต่างๆ  ของร่างกาย  หากเด็กมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ  ข้อต่อที่ดี  การทำงานของระบบประสาทในส่วนต่างๆ ที่รับและแปลผลข้อมูลอย่างถูกต้อง  รวมทั้งมีการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ  ข้อต่อ  และระบบประสาทได้เป็นอย่างดีอีกด้วย  หากปัจจัยดังกล่าวนั้นทำงานได้เป็นอย่างดีแล้วย่อมส่งผลให้การทำกิจกรรมต่างๆ นั้นดีตามไปด้วย  ดังนั้น  การเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ  ระบบประสาทและข้อต่อในส่วนต่างๆ  จึงมีความสำคัญ

                การเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อ  และระบบประสาท  รวมทั้งข้อต่อนั้น  สามารถทำได้หลากหลายวิธี  ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้ออาจใช้วิธีที่นิยมกันมากคือ  การนวดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ  การใช้ความร้อนความเย็นเพื่อกระตุ้นการทำงานของหลอดเลือดและเพื่อการผ่อนคลาย  การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ  การใช้น้ำเพื่อการผ่อนคลาย  ส่วนการเตรียมความพร้อมของข้อต่อและระบบประสาทนั้น  มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากล้ามเนื้อ  เพราะเป็นปัจจัยที่จะทำให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีเช่นกัน  วิธีที่นิยมใช้ในการเตรียมความพร้อมของข้อต่อและระบบประสาทส่วนต่างๆ  คือ  การกระตุ้นระบบประสาทโดยใช้การผสมผสานกัน  หรือ  Sensory  Integration  (SI)

                ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  การพัฒนาศักยภาพเด็กก่อนวัยเรียนนั้น  จำเป็นต้องคำนึงถึงการพัฒนาองค์ประกอบด้านต่างๆ  อย่างเป็นองค์รวมนั่นคือการพัฒนาด้านร่างกาย  ด้านอารมณ์และสังคม  และด้านสติปัญญา  โดยคำนึงถึงพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย  และส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ โดยใช้กิจกรรมซึ่งเด็กในวัยนี้  ควรใช้กิจกรรมบูรณาการในการพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ  โดยสอดแทรกกิจกรรมเข้าไปสู่กิจวัตรประจำวัน  ควบคู่กับการเล่น  การใช้ดนตรี  ศิลปะ  และเตรียมความพร้อมทั้งด่านร่างกาย  ข้อต่อและระบบประสาท   

โพสเมื่อ : 28 ม.ค. 2557,20:52   อ่าน 5984 ครั้ง