ทำความรู้จัก “ แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัว
(Individualized Family Service Plan : IFSP)
”
โดย นางสาวปวีณา พิเชฐสินธุ์
(ครู คศ.2)
การเลี้ยงดูเด็กไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุใด
ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง
เพราะครอบครัวเป็นสถาบันแรกในการกล่อมเกลา
และส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการอย่างเหมาะสม
ทั้งในด้านร่างกายการเคลื่อนไหว
การใช้งานของร่างกายส่วนต่างๆ
การทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ
พัฒนาการด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม
การสื่อสารและการช่วยเหลือตนเอง
โดยเฉพาะในเด็กที่มีความบกพร่องหรือเด็กพิการนั้น ครอบครัวมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีความใกล้ชิด เข้าใจธรรมชาติ
ความต้องการของสิ่งที่เด็กแสดงออกเป็นอย่างดี
เด็กพิการหรือเด็กที่มีความบกพร่องมักมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน บ้างมีข้อจำกัดทางกายภาพคือ
มีความพิการทางร่างกายไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน บ้างมีข้อจำกัดในเรื่องสติปัญญา ที่รับรู้และเรียนรู้ได้ต่ำกว่าเกณฑ์
บางคนมีข้อจำกัดในเรื่องการแสดงออกทางภาษาและการสื่อสาร
ข้อจำกัดดังกล่าวบางอย่างสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ แต่ต้องได้รับการกระตุ้น หรือการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม
หากได้รับการดูแลและช่วยเหลือได้เร็วจะทำให้ลดปัญหาที่เกิดตามมาในภายหลังได้ ดังนั้น
การกระตุ้นและการช่วยเหลือเด็กพิการที่ดี
จึงจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือของครอบครัวภายใต้แนวทางกระตุ้นและช่วยเหลือเด็กพิการที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละประเภทและแต่ละบุคคล
หลักการช่วยเหลือเด็กพิการนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่าเด็กพิการจะพัฒนาได้ดีหากได้รับการดูแลด้วยความร่วมมือของครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง
ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษา ชุมชน การพัฒนาเด็กจำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่แรกเกิด หรือแรกพบความพิการ (Early Intervention : EI) การพัฒนาเด็กโดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมนั้นจะดำเนินการผ่านแนวทางการพัฒนาเด็กเป็นเฉพาะบุคคล ที่เรียกว่า “แผนให้บริการเฉพาะครอบครัว หรือ Individualized Family
Service Plan (IFSP)”
แผนให้บริการเฉพาะครอบครัว มีลักษณะป็นแนวทางหรือเอกสารทางกฎหมายที่จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ครอบครัวลดการพึ่งพานักวิชาชีพ แต่เน้นการเพิ่มหรือพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะที่ครอบครัวจะสามารถช่วยเหลือ ดูแลเด็กพิการได้อย่างเหมาะสมและถูกต้อง
การจัดทำแผนให้บริการเฉพาะครอบครัวมักจะดำเนินการในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 3 ปี และดำเนินการจัดทำแผนดังกล่าวโดยคณะกรรมการหรือทีมที่ประกอบไปด้วยความร่วมมือของบุคคลหลายสาขา รวมทั้งครอบครัว
เน้นส่งเสริมจุดแข็งหรือจุดเด่นของครอบครัว และตอบสนองต่อความต้องการของครอบครัว ในแผนฉบับนี้ครอบครัวหรือผู้ปกครองจะเป็นผู้ร่วมกำหนดเป้าหมายที่จะพัฒนาเด็ก ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการ
เทคนิคการช่วยเหลือและการดูแลเด็ก
ได้มีโอกาสได้ทราบถึงแหล่งบริการ
ผู้ให้บริการที่ครอบครัวและเด็กพิการสามารถเข้าถึงได้
การจัดทำแผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวสำหรับเด็กพิการ มีขั้นตอนหลักๆ ในการดำเนินการจัดทำแผน คือ 1) เริ่มต้นจากครอบครัวพบผู้ประสานงาน
เพื่อพูดคุยและให้คำแนะนำในเบื้องต้น
2) ประชุมกำหนดทีมสหวิทยาการของเด็กพิการ 3) ประเมินพัฒนาการอย่างรอบด้านโดยทีมสหวิทยาการ (Multidisciplinary)
ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องกับเด็กพิการ เช่น
แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา
นักตรวจวัดการได้ยิน
นักตรวจวัดการเห็น
นักแก้ไขการพูด นักการศึกษา เป็นต้น
4) ประชุมพิจารณาผลการประเมินเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเด็กพิการ
5) กำหนดผู้ให้บริการ เป้าหมายหรือแนวทางการพัฒนาเด็กพิการโดยเน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัวและทีมสหวิทยาการ กำหนดระยะเวลาการให้บริการ 6) ติดตาม ประเมินและทบทวนแผน
องค์ประกอบที่สำคัญที่ควรต้องปรากฎในแผนให้บริการเฉพาะครอบครัว คือ
ระดับความสามารถในปัจจุบันของเด็กพิการที่ครอบคลุมถึงพัฒนาการด้านต่างๆ ได้แก่
พัฒนาการทางกาย
พัฒนาการด้านสติปัญญาและการรับรู้
พัฒนาการด้านการสื่อสารและภาษา
พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม และความสามารถในด้านการปรับตัว นอกจากข้อมูลพัฒนาการของเด็กพิการแล้ว
ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัวมีความสำคัญเช่นกัน ในส่วนของครอบครัวควรระบุจุดเด่นที่สามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้การพัฒนาเด็กพิการประสบความสำเร็จ ควรต้องระบุความต้องการของครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับเด็กพิการโดยเรียงลำดับความสำคัญ
ต้องกำหนดเป้าหมายที่ต้องการอย่างชัดเจนที่จะเกิดขึ้นกับเด็กพิการและครอบครัว ระบุเงื่อนไข
วิธีการและระยะเวลาที่จะทำให้เป้าหมายนั้นประสบความสำเร็จ กำหนดความชัดเจนของบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและผู้ให้บริการตามบริการนั้นๆ
ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเด็กพิการและความต้องการของครอบครัว
การนำแผนการให้บริการเฉพาะครอบครัว (IFSP) มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการมี
ประโยชน์หลายประการ ดังนี้
1) แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวเป็นเสมือนแผนที่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธีและเหมาะสมสำหรับแต่ละครอบครัว
2) แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวทำให้ครอบครัวทราบว่าบริการต่าง
ๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กและครอบครัวมีอะไรบ้าง
รับบริการได้ที่ไหน
ใช้ระยะเวลาในการบริการนานเท่าใด
และจะเริ่มต้นกระบวนการช่วยเหลือเด็กอย่างไร
3) แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวช่วยเพิ่มความสามารถ และความมั่นใจให้แก่ครอบครัวในการดูแล และกระตุ้นพัฒนาการของเด็ก
4) แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวช่วยให้ครอบครัว และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก รวมถึงความต้องการของเด็กพิการและครอบครัว
5) แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวมีลักษณะการทำงานร่วมมือกันระหว่างครอบครัวและบุคลากรหลาย
ๆ ฝ่ายทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล
ความคิดเห็น และประสบการณ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อกัน
ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสรุปจะเห็นได้ว่า แผนการให้บริการเฉพาะครอบครัวเป็นเครื่องมือหรือแนวทางที่จะช่วยในการพัฒนาเด็กพิการโดยเน้นความร่วมมือของครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง ตอบสนองความต้องการของครอบครัวเป็นสำคัญ ส่งเสริมให้ครอบครัวมีความมั่นใจในการดูแลเด็กพิการ
และช่วยเหลือเด็กพิการได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
บรรณานุกรม
http://endoflifecare.tripod.com/Caregiving/id112.html , Individual Family Service Plan (IFSP) by Mary B. D. สืบค้นเมื่อวันที่ 23
มกราคม 2555.
http://www.ldanatl.org/aboutld/professionals/guidelines.asp,
Guidelines for the Individualized
Family
Service Plan (IFSP) under Part C of
IDEA สืบค้นเมื่อวันที่ 23
มกราคม 2555.
http://www.TelAbility.org , Understanding
the Individualized Family Service Plan by Thea K. W.
สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555.
http://www.spiritlakeconsulting.com/8LC/Sharedfiles/library/books/IFSPIEP
Comparison. pdf , Individualized Family
Service Plan (IFSP) and Individualized Education Program (IEP) A Comparison of
Program Components. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2555.
ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดลำพูน. (2554). คู่มือแผนการให้บริการเฉพาะครอบครัว.
ลำพูน.
|