ผงซักฟอก
ฟอสเฟตในนน้ำยาซักผ้าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางน้ำอย่างมาก วิธีที่จะช่วยกันรักษาน้ำได้ทางหนึ่งก็คือควรเลือกใช้ผงซักฟอกที่มีส่วนผสมของซีโอไลต์มาก หรือผสมฟอสเฟตน้อย หรืออยู่ในปริมาณที่ควบคุมได้ ผงซักฟอกบางชนิดจะบอกปริมาณของฟอสฟอรัสไว้ ให้เอา 3 คูณเปอร์เซ็นต์ของฟอสฟอรัส ก็จะรู้ฟอสเฟตที่แท้จริง ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการควบคุมการใช้ฟอสเฟตในผงซักฟอกไม่ให้เกินร้อยละ o.5 เพื่อลดการทำลายออกซิเจนในน้ำ

สำหรับซีโอไลต์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมมาในผงซักฟอกนั้น เมื่อลงสู่แหล่งน้ำ มันจะลอยตัวอยู่ในน้ำแล้วดูดเอาพวกไอออน โลหะต่างๆที่อยู่ในน้ำ และเมื่อตัวสารซีโอไลต์มีน้ำหนักมากขึ้นเนื่องจากมีสารประกอบมากขึ้น ก็จะลงไปสู่ที่ก้นบ่อก้นท่อ ด้วยคุณสมบัติของซีโอไลต์นี้ เมื่อดึงเอาสารโลหะต่างๆเข้ามาไว้แล้ว น้ำก็จะมีความกระด้างน้อยลง เป็นฟองได้ง่ายขึ้น จึงสามารถแทนฟอสเฟตได้
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ควรปฏิบัติคือ ใช้ผงซักฟอกให้น้อยลง เมื่อดูจากภาพยนตร์โฆษณาส่วนใหญ่ ผู้ผลิตสินค้ามักจะจูงใจให้ผู้บริโภคใช้ผงซักฟอกในปริมาณมากเกินความจำเป็นเสมอ ซึ่งการใช้ในปริมาณมากจะทำให้มีฟองมากก็จริง แต่ไม่ได้ช่วยให้ผ้าที่ซักสะอาดขึ้นถ้าไม่ได้ออกแรงขยี้ให้นานพอ หรือถ้าใช้เครื่องซักผ้า ฟองก็อาจจะล้นเครื่องด้วยซ้ำไป
กรองน้ำเสียก่อนออกจากบ้าน
ถึงที่สุดแล้ววิธีการอนุรักษ์น้ำ ไม่ว่าคุณจะใช้สารเคมีซึ่งอาจจะปนเปื้อนลงไปในน้ำหรือไม่ก็ตาม คุณเองก็ยังมีส่วนในการทำน้ำเสียอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่นั่นเอง โดยเฉพาะน้ำเสียที่มีส่วนผสมของสารประเภทไขมันนี่ยิ่งมีพิษสงร้ายกาจ ดังที่เคยกล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ไขมันจะเป็นตัวที่ปิดกั้นไม่ให้ออกซิเจนลงสู่แหล่งน้ำ เมื่อน้ำขาดออกซิเจนจึงกลายเป็นน้ำเสีย
แต่คุณสามารถทำให้สิ่งแวดล้อมของเราทุกคนดีขึ้นได้ เพียงแค่ในแต่ละบ้านจัดอุปกรณ์ในการบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะออกจากบ้าน สุขภาพของน้ำในวันข้างหน้าคงมีอัตราความเป็นพิษน้อยลงกว่านี้เป็นแน่ ซึ่งการบำบัดน้ำเสียสามารถทำได้ดังนี้ คือ การทำบ่อเกรอะ-ถังกรองไร้อากาศ
บ่อบำบัดน้ำเสียชนิดบ่อเกรอะ-ถังกรองไร้อากาศนี้มีความสามารถในการกำจัดความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ (บีโอดี) ได้ถึงร้อยละ 75 ทีเดียว
ในการสร้างบ่อบำบัดนี้สามารถทำใช้ได้เองที่บ้าน โดยใช้ปลอกคอนกรีตขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง o.8o-1.oo เมตร ขอบสูง 5o เซนติเมตร วางซ้อนกันดังตาราง
น้ำเสียจะเข้าสู่บ่อตะแกรงเป็นบ่อแรก หลังจากนั้นน้ำเสียที่ผ่านการกรองเศษขยะและเศษอาหารจะผ่านเข้าสู่บ่อดักไขมัน ซึ่งอาจจะมี 1 หรือ 2 บ่อก็ได้ ตามปริมาณน้ำเสีย น้ำเสียที่ผ่านบ่อดักไขมันแล้วจะเข้าสู่บ่อเกรอะและถังกรองไร้อากาศ ซึ่งหินบดในถังกรองไร้อากาศจะทำหน้าที่เป็นตัวกรองและลดความสกปรก หลังจากนั้นน้ำที่ผ่านการบำบัดจะปล่อยสู่บ่อซึม หรือระบายสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้เลย
หากเราทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกันช่วยบำบัดน้ำทิ้งก่อนออกจากบ้านเสียตั้งแต่วันนี้แล้ว พรุ่งนี้...จะมีชีวิตอยู่กันได้อย่างไร
ข้อมูลจาก
ดร.จิรพล สินธุนาวา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.บุญส่ง ไข่เกษ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นิศากร โฆษิตรัตน์ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
|